“ผนังมดลูกบาง” หรือ “เยื่อบุโพรงมดลูกบาง” นับเป็นปัญหาใหญ่ของคนที่อยากมีลูก และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของผู้ที่มีบุตรยาก ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลง และไม่สามารถย้ายตัวอ่อนได้ในกรณีทำเด็กหลอดแก้ว ในบทความนี้เราจะมาพูดในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน และศาสตร์การแพทย์แผนจีนทั้งสาเหตุ การรักษา คำแนะนำในการบำรุงผู้ที่มีปัญหา “ผนังมดลูกบาง” และจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์หรือไม่
ความหมายทางแพทย์แผนปัจจุบัน
ผนังมดลูก หรือ เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium)[1] เป็นเยื่อบุผิวของผนังด้านในมดลูก ทำหน้าที่ในการรับและฝังตัวของตัวอ่อน จะหนาที่สุดช่วงการตกไข่เพื่อรอให้ไข่ที่ปฏิสนธิเข้าไปฝังตัว เป็นบ้านอีกหลังในการฝักตัว หากไม่มีการปฏิสนธิและฝังตัวก็จะหลุดลอกบางลงกลายเป็นประจำเดือน โดยปกติผนังมดลูกที่สามารถเตรียมพร้อมที่จะตั้งครรรภ์ได้ควรหนา 8-14 มิลลิเมตร โดยหนาไม่น้อยกว่า 8 มิลลิเมตร และไม่ควรบางกว่า 5 มิลลิเมตร
ดังนั้นความหมายของ “ผนังมดลูกบาง” หรือ “เยื่อบุโพรงมดลูกบาง” คือ การที่ผนังมดลูกมีความบางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งหากบางเกินกว่า 5 มิลลิเมตรจะทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยากมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงและเสี่ยงเป็นภาวะผู้มีบุตรยากนั่นเอง
โดยทางการแพทย์ได้มีการแบ่งภาวะผนังมดลูกบาง ออกเป็น 2 ภาวะ ดังนี้ [2]
1. Asherman’s Syndrome (AS) เป็นภาวะผนังมดลูกบางโดยมีสาเหตุจากการทําลายเยื่อบุโพรงมดลูก จากการขูดมดลูกรุนแรงหลายครั้ง หรือเกิดจากภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
2. Endometrial Atrophy (EA) เป็นภาวะที่ผนังมดลูกบางมาก ไม่เคยหนาเกิน 5 มิลลิเมตร โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการทานยาคุมกําเนิดเป็นเวลานาน
สาเหตุของผนังมดลูกบางในทางแพทย์แผนปัจจุบัน?
1.การขูดมดลูก
การขูดมดลูกทำให้ผนังมดลูกบาง เป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อยที่สุด เพราะการขูดมดลูกจะทำให้เกิดการอักเสบหรือมีพังผืดที่มดลูกได้ อาทิเช่น ขูดมดลูกเพราะแท้งบุตร ขูดมดลูกเพราะมีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ขูดมดลูกเพราะตั้งครรภ์ผิดปกติ เป็นต้น
2.มดลูกอักเสบ และอุ้งเชิงกรานติดเชื้อ
เนื่องจากบริเวณมดลูกจะมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มดลูกอุ่นอยู่เสมอ หากเลือดไม่ไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงจะเกิดสภาวะมดลูกเย็น นำไปสู่การอักเสบ และติดเชื้อได้ง่าย
3.มีเนื้องอกที่มดลูก
เนื้องอกบริเวณมดลูก หรือเนื้องอกเยื่อบุโพรงมดลูก ไปขัดขวางการไหลเวียนของเส้นเลือด และฮอร์โมนที่มาหล่อเลี้ยงที่เยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถเจริญและหนาตัวได้ตามปกติ
4.ฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ
เนื่องจากมีภาวะรังไข่เสื่อมหรือรังไข่หยุดการทำงาน ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมการทำงานในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงมีไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัว
5.ใช้ยากระตุ้นรังไข่มากเกินไป
การใช้ยากระตุ้นรังไข่ในปริมาณมาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน มีผลทำให้ผนังมดลูกบางได้ เนื่องจากเป็นยาที่มีฤทธิ์ตรงข้ามกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถหนาตัวได้อย่างเต็มที่
6.การใช้ยาคุมกำเนิด
เช่น ฉีดยาคุม ฝังยาคุม และทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills - POP) ซึ่งจะมีฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ ไปยับยั้งการตกไข่นานเกินไป ส่งผลให้การหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยลง
7.ผนังมดลูกบางที่ไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุการเกิดผนังมดลูกบางที่ไม่แน่ชัด อาจเกิดหลังจากผ่าตัดทำให้มดลูกเสียสภาพ หนาตัวไม่พอ ทำให้ไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์
ผนังมดลูกบางอันตรายไหม?
สำหรับผู้ที่เตรียมตัวตั้งครรภ์
ผู้ที่มีภาวะมดลูกบางไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิต เพียงแต่การหนาของผนังมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูกมีผลต่อการตั้งครรภ์ การฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิและตัวอ่อน ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงและเสี่ยงเป็นผู้มีบุตรยากนั่นเอง
สำหรับการตั้งครรภ์
หากผนังมดลูกบางในขณะที่ตั้งครรภ์จะเกิดความเสี่ยงของภาวะรกเกาะต่ำและมดลูกแตกได้ นับว่าเป็นอันตรายต่อทารกและคุณแม่ นอกจากนั้นเมื่อตั้งครรภ์รกจะมาเกาะที่บริเวณแผลเกิดการฝังตัวที่ผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะตกเลือดในระหว่างตั้งครรภ์และนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด
"ผนังมดลูกบาง" กับแพทย์แผนจีน[3]
“ผนังมดลูกบาง” ภาษาจีนคือ 子宫内膜薄 ในตำราสูตินรีเวชของศาสตร์การแพทย์แผนจีนไม่มีชื่อทางการแพทย์แผนจีนที่เฉพาะ แต่จะเกี่ยวข้องกับ “การตั้งครรภ์ (怀孕)” "ภาวะมีบุตรยาก (不孕)" "เลือดแห้ง (血枯)" และ "ประจำเดือนน้อย(月经量少)"
มดลูกถือว่าเป็นหนึ่งในอวัยวะของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งในทางการแพทย์แผนจีนระบบสืบพันธุ์นอกจากมดลูกแล้วยังมีเทียนกุ่ย (天葵) เส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) พลังชี่ และเลือด ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กัน ซึ่งในเส้นลมปราณไตจะมีพลังไตไหลเวียน สัมพันธ์กับเส้นลมปราณชง(ที่มีจุดกำเนิดบริเวณมดลูก) และเส้นลมปราณเญิ่น (ที่ไหลเวียนผ่านแนวกลางลำตัวด้านหน้า) มีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก การเจริญพันธุ์ การมีประจำเดือน รวมถึงการตั้งครรภ์ด้วย โดยมดลูกจะต้องมีความอุ่นพลังหยาง หล่อเลี้ยงด้วยสารอินอย่างเลือด
โดยความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกถือเป็นการแสดงให้เห็นว่ามดลูกเต็มไปด้วยพลังชี่ และเลือดขับเคลื่อน หล่อเลี้ยงให้ทำงานปกติ สืบพันธุ์ได้ มีลูกได้ แต่หากเยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ประจำเดือนก็จะน้อยลง แสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์นั่นเอง
สาเหตุและกลไกการเกิดภาวะผนังมดลูกบางในทางแพทย์แผนจีน [4]
มักจะเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่อยู่ในระบบสืบพันธุ์ เกี่ยวข้องกับเลือด และพลังชี่ของร่างกายเกิดความผิดปกติไป
1.ภาวะชี่และเลือดพร่อง :
เกิดจากร่างกายอ่อนแอ มีพลังชี่และเลือดพร่องเป็นทุนเดิม หรือได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ร่างกายเสียเลือดมาก เป็นเหตุให้ตับและไตขาดการบำรุง เส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉)พร่อง ไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงมดลูกและสร้างเยื่อบุผนังมดลูกให้หนาตัวได้มากพอ
อาการแสดง : รอบประจำเดือนมาช้า ประจำเดือนน้อย หรือประจำเดือนไม่มา ร่างกายอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น เป็นต้น
วิธีการรักษา : เพิ่มพลังชี่ บำรุงเลือดหล่อเลี้ยงมดลูก และปรับประจำเดือนให้มากปกติสม่ำเสมอ
2.ภาวะชี่ไตพร่อง :
เกิดจากสารทุนตั้งต้นแต่กำเนิดไม่เพียงพอ หรือใช้มากเกินไป ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เช่น ให้กำเนิดบุตรมากเกินไป ทำให้พลังชี่ของไตพร่อง ไม่ได้รับการบำรุง ส่งผลให้เส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) ทะเลเลือด(血海) สร้างเลือดไม่เพียงพอที่จะไปหล่อเลี้ยงมดลูก ผนังมดลูกหนาไม่พอจะให้ไข่หรือตัวอ่อนฝัง และประจำเดือนมาช้า
อาการแสดง : เริ่มมีประจำเดือนช้า รอบเดือนมาช้า ปริมาณน้อย ปวดเอว ปวดขา เวียนศีรษะ มีเสียงในหู อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืน เป็นต้น
วิธีการรักษา : บำรุงไต เพิ่มพลังชี่ ปรับเส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) บำรุงมดลูก
3.ภาวะเลือดแห้ง :
เกิดจากสารอิน(เสมือนน้ำหล่อเลี้ยงร่างกาย)ในร่างกายไม่เพียงพอหรือเป็นโรคเรื้อรัง สารอินพร่องมีผลทำให้ร่างกายภายในเกิดความร้อน เผาผลาญสารน้ำหรือเลือดในร่างกาย ทำให้เลือดแห้งขอด ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาเพราะผนังมดลูกไม่มีเลือดหล่อเลี้ยงและหนาไม่พอที่จะฝังไข่หรือตัวอ่อน
อาการแสดง : รอบประจำเดือนมาช้า ปริมาณน้อย หรือไม่มาเลย ร้อนบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า แก้มแดง ริมฝากแห้ง เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น เป็นต้น
วิธีการรักษา : บำรุงอิน ระบายความร้อน ให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงมดลูกมากขึ้น และปรับประจำเดือน
4.ภาวะเลือดคั่งชี่ติดขัด :
เกิดจากอารมณ์ที่แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ทำให้พลังชี่ติดขัด เลือดไหลเวียนไม่คล่องตัว เกิดเป็นเลือดคั่ง หรือร่างกายกระทบความเย็น อุดกลั้นเส้นลมปราณชง (冲脉) เส้นลมปราณเญิ่น (任脉) เลือดไม่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงมดลูก มดลูกไม่อุ่น เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เจริญเต็มที่
อาการแสดง : ประจำเดือนไม่มา อารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโห ปวดชายโครง แน่นหน้าอก ปวดท้องน้อย เป็นต้น
วิธีการรักษา : ระบายชี่ สลายเลือดคั่ง ปรับอารมณ์ ให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงมดลูกมากขึ้น
มุมมองการรักษาและบำรุงผนังมดลูกตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน [5]
ผนังมดลูกที่หนาตัวพอดีจะมีความอุ่น มีเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ทำให้การฝังตัวของไข่มั่นคง และแข็งแรง หากผนังมดลูกบางไม่เพียงพอกับการโอบรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิ ก็จะทำให้ตัวอ่อนเจริญได้ยากเช่นกัน
การรักษา “ผนังมดลูกบาง” จึงสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร โดยแพทย์แผนจีนจะนำศาสตร์การแพทย์แผนจีนมารักษา โดยดูแลได้ตั้งแต่การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับตั้งครรภ์ บำรุงเลือด ปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ผ่อนคลายความเครียด ทำให้ประจำเดือนมาปกติ เมื่อผนังมดลูกหนามากพอก็ทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิและตัวอ่อนฝังตัวได้ ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ที่พร้อมและสมบูรณ์ ซึ่งเห็นผลดี เพราะได้ปรับสมดุลทั้งร่างกาย จบครบในองค์เดียว อาทิเช่น
การฝังเข็ม
ฝังตามเส้นลมปราณตับ ไต ชง (冲脉) เญิ่น (任脉) วิ่งเชื่อมผ่านถึงมดลูก ปรับประจำเดือน สร้างสมดุลเลือดและพลังชี่ไปหล่อเลี้ยงมดลูกมากขึ้น
ยาสมุนไพรจีนแบบตำรับ
เป็นกลุ่มตำรับยาบำรุงเลือด เสริมพลังไต อุ่นบำรุงมดลูก ปรับประจำเดือน โดยแพทย์แผนจีนจะปรับตัวยาให้เหมาะสมให้กับร่างกายคนไข้ และปรับเปลี่ยนตำรับเฉพาะแต่ละบุคคล
ตัวยาสมุนไพร
อาทิเช่น หวงฉี(黄芪), ตังกุย(当归), ตั่งเซิน(党参), จีสฺวี่ยเถิง(鸡血藤), เออเจียว(阿胶), อี้หมูฉ่าว(益母草), ทู่ซือจึ(菟丝子), ปู่กู่จือ (补骨脂) และ ฝู่เผินจื่อ(覆盆子)
ประโยชน์การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน:
กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงมดลูก
เพิ่มการเจริญ และการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก
เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกาย
ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ ให้ร่างกายพร้อมต่อการตั้งครรภ์
การดูแล และบำรุงผู้ที่มีภาวะผนังมดลูกบางเบื้องต้น
รักษาและบำรุงให้ผนังมดลูกแข็งแรงมากยิ่งขึ้นง่ายๆ ด้วยวิธีเหล่านี้
1.เน้นทานโปรตีนช่วยให้ผนังมดลูกให้หนาตัว
หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ จำเป็นต้องเน้นทานโปรตีนเพิ่มขึ้น บำรุงเซลล์ไข่ให้สมบูรณ์ และช่วยสร้างผนังมดลูกให้หนาตัวมากขึ้น
2.ลดการทานแป้งขัดสี ให้ทานธัญพืช เช่น งาดำ ลูกเดือย เมล็ดฟักทองเสริม เป็นต้น
3.ทานอาหารฤทธิ์อุ่น - ผักผลไม้สีแดงช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี
อาหารประเภทนี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด โดยอาหารฤทธิ์อุ่น ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีไปกระตุ้นการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูดให้หนาตัวขึ้น และควรทานผักผลไม้สีแดง เช่น มะเขือเทศ แครอท ทับทิม บีทรูท ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี เป็นต้น
4.ปรับสมดุลฮอร์โมนให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น
เสริมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสำคัญในการควบคุมภาวะไข่ตก การมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ จะช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน
5.เสริมวิตามิน เช่น แมกนีเซียม ,Vitamin B6 ,Vitamin C ,Vitamin E ,สังกะสี ,โอเมก้า3 เป็นต้น
6.ลดภาวะความเครียด หลับให้อิ่ม ไม่ทำงานหักโหม
ภาวะความเครียด ทำงานหนักหักโหม ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ หลับไม่เต็มอิ่ม การสร้างเลือดในร่างกายไม่เต็มที่
7.ทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง ช่วยเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจน
เช่น นมถั่วเหลือง โจ๊กถั่วแดง โจ๊กถั่วเขียว โจ๊กถั่วดำ เป็นต้น
อ้างอิง
[1]. ผนังมดลูกบาง สาเหตุของปัญหามีลูกยาก บำรุงอย่างไร มีลูกได้ไหม? [ออนไลน์]. 2565 แหล่งที่มา: https://beyondivf.com/thin-uterine-lining/ [08 มกราคม 2566]
[2]. ภาวะผนังมดลูกบางคืออะไร. ภาวะการมีบุตรยาก: เกิดจากผนังมดลูกบาง [ออนไลน์]. 2565 แหล่งที่มา: https://www.nirvaxis.com/stem-cell/ivf/ [08 มกราคม 2566]
[3]. 陈文裕,冯崇廉,郭小云和钟冬梅. 中医药治疗子宫内膜薄性不孕症的疗效分析[J]. 广东: 光明中医, 2018, 第33卷(第7期): 1056-1058
[4]. คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว. ภาวะประจำเดือนไม่มา/ขาดประจำเดือน กับมุมมองทางการแพทย์แผนจีน [ออนไลน์]. 2565 แหล่งที่มา: https://huachiewtcm.com/content/9162/ภาวะประจำเดือนไม่มาขาดประจำเดือน-กับมุมมองทางการแพทย์แผนจีน [08 มกราคม 2566]