top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนphangngatcmclinic

การฝังเข็มคืออะไร? มีที่มาที่ไปอย่างไร? มีกลไกทำงานยังไง? ได้ผลจริงหรอ?

อัปเดตเมื่อ 30 ก.ย. 2566

รวบรวม พจ.กภ.วุฒิพรหม แสงนิกรเกียรติ

เรียบเรียง พจ.มุกหอม พัฒนพิชัย

พังงาคลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน

มาศึกษาที่มาที่ไปของการฝังเข็ม กลไกการทำงาน และการยอมรับผลการรักษาในทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันกันเถอะ...


การฝังเข็ม (Acupuncture) คืออะไร?

การฝังเข็มคือหนึ่งในวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีน ที่ใช้เข็มแทงลงไปบนร่างกายผ่านชั้นผิวหนัง ชั้นเยื่อพังผืด(Fascia) กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มกระดูก เส้นประสาท ผ่านเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย โดยอ้างอิงตามจุดฝังเข็มตามตำราจีนโบราณ หรือตามหลักทางกายวิภาคในยุคปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแพทย์แผนจีน หรือหมอจีนท่านนั้นๆ เพื่อไปกระตุ้นปรับการทำงานของระบบร่างกายผ่านทางระบบเส้นลมปราณ หรือระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกาย


การฝังเข็ม มีวิธีการอย่างไร?

  1. ตรวจร่างกาย กล้ามเนื้อ เพื่อหาตำแหน่งจุดฝังเข็มที่เหมาะสมในการฝังเข็มของแต่ละบุคคล

  2. ทำความสะอาดบริเวณตำแหน่งที่จะฝังเข็มด้วยแอลกอฮอล์

  3. นำเข็มสำหรับฝังเข็มโดยเฉพาะ ฝังลงบนจุดฝังเข็ม

  4. คาเข็มค้างไว้ 20-30 นาที จากนั้นนำเข็มออก (ควรจัดท่านอนให้ผ่อนคลายที่สุด เนื่องจากตอนคาเข็ม ห้ามขยับ)

การฝังเข็ม มีที่มาอย่างไร?

การฝังเข็มเริ่มต้นขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนจากความบังเอิญ เมื่อชาวจีนโบราณมีการทำสงคราม แล้วโดนลูกธนูยิงใส่ก็เจ็บปวด แต่เมื่อโดนธนูยิงเข้าอีกลูกกลับหายปวด จึงกลายเป็นการพยายามหาวิธีรักษาอาการปวด มีการทดลองการกดลงไปตามจุดบนร่างกาย แล้วพบว่าเมื่อกดตามจุดต่างๆของร่างกาย สามารถลดอาการปวดได้ จึงมีการพัฒนานำกระดูก หรือไม้ไผ่มาใช้เป็นตัวช่วยในการกดจุด มีการสังเกตุ และบันทึกผล หลังจากการลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลานาน จนถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นตำแหน่งจุดฝังเข็ม และเข็มฝังเข็มที่ใช้กันในยุคปัจจุบันนี้


ฝังเข็ม เข็มที่ใช้เป็นยังไง? เจ็บไหม? รู้สึกอย่างไร?

เข็มฝังเข็ม เป็นเข็มตัน มีขนาดเล็ก จึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บเหมือนเข็มฉีดยาที่มีขนาดใหญ่กว่า
ภาพเปรียบเทียบขนาดของเข็มฝังเข็ม

เข็มที่นำมาใช้ในฝังเข็ม เป็นเข็มตัน แบบปลอดเชื้อใช้ครั้งเดียวทิ้ง (disposable) ขนาดและความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของจุดต่างๆ เข็มที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกทำลายทิ้ง และไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ

การฝังเข็มไม่เจ็บเหมือนการฉีดยา เนื่องจากเข็มเข็มที่ใช้เป็นเข็มตัน และมีขนาดเล็ก ไม่ใหญ่เท่าเข็มฉีดยา โดยทั่วไป จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยตอนที่เข็มผ่านชั้นผิวหนังเข้าไป หลังจากนั้นจะมีความรู้สึก หนัก ชา ช็อต ตื้อ ในตอนที่ลงไปถึงตำแหน่งจุดฝังเข็ม (รู้สึกได้แรงเหมือนตอนที่นวดโดนจุด)


การฝังเข็ม กับแพทย์แผนปัจจุบัน

ในอดีตได้มีการเผยแพร่การรักษาด้วยศาตร์แพทย์แผนจีนที่สหัฐอเมริกา ช่วงแรกนั้นการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ ชาวตะวันตกไม่เข้าใจในเรื่องของชี่(气) หรือเส้นลมปราณ (经络) แต่เมื่อได้ทดลองฝังเข็มรักษาปรากฏว่ามันได้ผลในการรักษาได้จริง จึงเริ่มสงสัยในกลไกการรักษาจึงได้เริ่มมีการทำการวิจัยศึกษากลไกการฝังเข็มเพื่ออธิบายตามหลักวิทยาศาตร์


การฝังเข็ม รักษาโรค หรืออาการอะไรบ้าง? ได้ผลจริงหรอ?

ในปี ค.ศ.2003 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยอมรับผลการรักษา และบรรเทาอาการด้วยการฝังเข็มในอาการต่างๆ จากการทดสอบทางคลินิก ตามเอกสาร “Acupuncture: Review and Analysis of Reports on Controlled Clinical Trials.” ดังนี้ https://chiro.org/acupuncture/FULL/Acupuncture_WHO_2003.pdf

โรค หรืออาการที่การฝังเข็มให้ผลเป็นอย่างดี

Diseases, symptoms or conditions for which acupuncture has been proved—through controlled trials—to be an effective treatment:

Adverse reactions to radiotherapy and/or chemotherapy ลดผลข้างเคียงจากการฉายแสง หรือให้คีโม

Allergic rhinitis (including hay fever) ภูมิแพ้จมูก จาม คันตา คัดจมูก น้ำมูกไหลใสๆ แพ้อากาศ

Biliary colic อาการปวดบริเวณท้องส่วนบนขวา อย่างเฉียบพลัน อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากมีนิ่วในถุงน้ำดี หรือถุงน้ำดีอักเสบ

Depression (including depressive neurosis and depression following stroke) ภาวะซึมเศร้า

Dysentery, acute bacillary โรคบิดไม่มีตัว ท้องเสียรุนแรง

Dysmenorrhoea, primary ปวดท้องประจำเดือน แบบไม่มีพยาธิสภาพทางร่างกาย คือปวดแบบตรวจแล้วไม่ชีสต์ หรืออื่นๆ

Epigastralgia, acute (in peptic ulcer, acute and chronic gastritis, and gastrospasm) โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดยอดอก ลิ้นปี่

Facial pain (including craniomandibular disorders) ปวดใบหน้า

Headache ปวดหัว

Hypertension, essential ความดันโลหิตสูง

Hypotension, primary ความดันโลหิตต่ำ

Induction of labour การกระตุ้นให้เจ็บครรภ์คลอด กระตุ้นการคลอด

Knee pain ปวดเข่า

Leukopenia ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

Low back pain ปวดหลังส่วนล่าง

Malposition of fetus, correction of ภาวะทารกในครรภ์อยู่ผิดตำแหน่ง

Morning sickness อาการแพ้ท้อง

Nausea and vomiting คลื่นไส้ อาเจียน อ้วก

Neck pain ปวดคอ

Pain in dentistry (including dental pain and temporomandibular dysfunction) ปวดฟัน

Periarthritis of shoulder ปวดไหล่

Postoperative pain ปวด หลังการผ่าตัด

Renal colic นิ่วในไต

Rheumatoid arthritis ปวดข้อ รูมาตอยด์

Sciatica กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ปวดสะโพก ชา เสียว ร้าวลงขา

Sprain ปวดข้อเท้า ข้อเท้าซ้น

Stroke โรคหลอดเลือดสมอง

Tennis elbow ปวดแขน ด้านนอก

โรค หรืออาการที่การฝังเข็มได้ผลดี แต่ต้องพิสูจน์ต่อไป

โรค หรืออาการที่การฝังเข็มให้ผลดีในบางราย แต่เป็นทางเลือกที่คุ้มค่า เนื่องจากยากในการรักษาด้วยวิธีอื่น

โรค หรืออาการที่การฝังเข็มอาจให้ผลดี แต่ยังควรอยู่ในการดูแลของแพทย์แผนปัจจุบัน

การฝังเข็ม มีกลไกทางวิทยาศาตร์อย่างไร?

อธิบายแบบง่ายๆคือ กระตุ้นกลไกทางสรีรวิทยาที่ร่างกายพยายามปรับตัวเองเข้าสู่สมดุล ระหว่าง somatic และ autonomic nervous system ผ่านการกระตุ้นระบบ Reflix โดย ส่งสัญญาณเป็น somatic sensation (pain sensation) ในระดับ subthreshold pain (ความเจ็บปวดระดับที่การับรู้ของสมองยังไม่รู้สึกปวด) แต่สัญญาณตอนกลับมีได้หลายอย่าง ขึ้นกับตำแหน่งจุดฝังเข็ม และวิธีการกระตุ้นเข็ม เช่น sensation, motor, autonomic และ hormonal

อธิบายแบบค่อนข้างละเอียด

การลดอาการปวด

การฝังเข็มส่วนมากจะนิยมใช้ในการรักษาอาการปวด โดยเมื่อร่างกายบาดเจ็บจะมีการกระตุ้นเส้นประสาทส่งกระแสประสาทไปที่ไขสันหลัง และหลั่งสารความเจ็บปวด (Substance P) ส่งไปที่สมอง เมื่อแทงเข็มลงบนผิวหนังบนจุดฝังเข็ม จะทะลุผ่านชั้นต่างๆของเนื้อเยื่อ ก่อนจะถึงชั้นกล้ามเนื้อ โดยชั้นที่สำคัญที่สุด และมักจะถูกมองข้ามคือ ชั้นพังผืด (Fascia) โดยชั้นพังผืดนั้นเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ประกอบด้วยคอลลาเจน อยู่ชั้นใต้ผิวหนังทำหน้าที่ ห่อหุ้ม คงสภาพ แยกชั้นกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะภายใน ซึ่งเป็นชั้นที่สำคัญมาก บนพื้นผิวของ ชั้นพังผืด (Fascia) จะมีรูเล็กๆ ที่ประกอบด้วย เส้นประสาท หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง รวมกันอยู่เป็น Triad อาการปวดมักจะเกิดขึ้นเมื่อ Triad ถูกบีบรัด หรือเต็มไปด้วยคอลลาเจน และแพทย์พบว่าเมื่อคอลลาเจนที่ Triad คลายออกอาการปวดจะลดลงอย่างชัดเจน และมีการหลั่งสาร Endorphin มายับยั้งการสารความเจ็บปวด (Substance P) ในไขสันหลังทำให้การส่งกระแสความเจ็บปวดไปที่สมองลดลง และจากการศึกษาในประเทศเยอรมันพบว่าตำแหน่งของรูผังผืดและ Triad มีความทับซ้อนกับจุดฝังเข็ม 361 จุด ถึง 82% จึงเป็นอีกการทดลองหนึ่งที่ยืนยันผลของการฝังเข็ม

การส่งเสริมสุขภาพ

**ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายให้เตรียมพร้อมเผชิญอันตรายหรือภาวะฉุกเฉิน เช่น การเพิ่มระดับกลูโคสสำหรับพลังงาน เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ลดระบบการย่อยอาหาร เตรียมร่างกายสำหรับออกกำลังกาย

**ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) มีหน้าที่ควบคุมการสะสมพลังงาน ควบคุมระดับการทำงานของอวัยวะภายใน หลอดเลือดส่วนต่างๆให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงานได้ เตรียมสำหรับการพักผ่อนและการย่อยอาหารเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ลดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้


การฝังเข็ม มีข้อดี - ข้อเสีย อย่างไรบ้าง?

ข้อดี ลดการใช้ยาเคมี เนื่องจากรักษาด้วยการกระตุ้นกลไกของร่างกาย

ลงไปลึกได้ถึงต้นเหตุอาการปวด ได้แม่นยำ

ข้อเสีย อาจต้องเตรียมใจสำหรับคนไข้ที่กลัวเข็มมาก

อาจมีระบม หรือรอยช้ำ หลังการรักษา 2-3 วัน

เนื่องจากเข็มมีขนาดเล็ก ถ้ามีอาการบริเวณกว้าง ควรใช้การครอบแก้วร่วมด้วย


การฝังเข็ม ควรเตรียมตัวก่อนอย่างไรบ้าง?

การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม
การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม
  1. ควรทานอาหารก่อนเข้ารับการฝังเข็ม 1-2 ชม. เพราะถ้าฝังเข็มในช่วงผู้ป่วยอ่อนเพลีย หิว หรือแน่นท้องมากจะมีโอกาสเมาเข็ม เวียนหัว หน้ามืด

  2. ทำใจผ่อนคลาย พักผ่อน นอนหลับอย่างเพียงพอ ในคืนก่อนมารับการฝังเข็ม

  3. สวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ ไม่รัดแน่นเกินไป (ไม่ต้องกังวล ทางคลินิกมีชุดให้เปลี่ยน)

  4. กรุณาแจ้งแพทย์เกี่ยวกับอาการที่เป็นทั้งหมด ไม่ใช่แค่อาการที่มารักษาเท่านั้น เนื่องจากแพทย์จีนมองทั้งร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้แจ้งตามจริงเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ


ข้อควรระวังในการฝังเข็ม

แจ้งแพทย์ทุกครั้ง หากมีอาการเหล่านี้ สามารถฝังเข็ม ครอบแก้วได้ แต่อาจมีข้อจำกัดในบางกรณี
ข้อควรระวัง ของการฝังเข็ม
  1. อ่อนเพลีย หิว หรือแน่นท้องมากเกินไป

  2. ผู้ที่มีโรคหัวใจ, วิตกกังวล, กลัวเข็มมาก หรือควบคุมตนเองไม่ได้ แจ้งแพทย์ และมีญาติคอยดูแลขณะรับการรักษา

  3. ผู้ป่วยที่มีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation) แจ้งแพทย์ก่อนการฝังเข็มทุกครั้ง

  4. สตรีมีครรภ์

  5. โรคมะเร็ง



ข้อห้ามในการฝังเข็ม

หากมีข้อห้ามเหล่านี้ ห้ามฝังเข็ม ครอบแก้วโดยเด็ดขาด อาจทานยาจีนได้ในบางกรณี
ข้อห้าม ของการฝังเข็ม
  1. มีแผลเปิดติดเชื้อในบริเวณที่จะทำการรักษา

  2. โรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด

  3. ผู้ป่วยที่ใช้ยาเหล่านี้ ภายใน 14 วัน

  • สารกันเลือดแข็งตัว (Anticoagulant)

  • ยาละลายลิ่มเลือด (rtPA)

  • LMVH (Fraxiparin & Clexan)

  • Pradaxa (Dabigatran )

  • Xarelto (Rivaroxaban)

  • Eliquis (Apixaban)

  • Lixiana (Edoxaban)

  • Orfarin (Warfarin)

  • Heparin

อาการ หรือผลข้างเคียงหลังฝังเข็ม มีอะไรบ้าง? ต้องพักฟื้นไหม?

หลังฝังเข็มสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้น ในบางคนอาจมีช้ำรอยเข็ม ปวดระบม หรือมีไข้หลังฝังเข็ม ประมาณ 2-3 วัน


คำแนะนำหลังการฝังเข็ม ควรทำอย่างไร?

ผลการรักษาขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
คำแนะนำหลังการฝังเข็ม
  1. พักผ่อนให้เต็มที่อีก 1 วัน ไม่ควรกลับไปทำงานหนัก หรือออกกำลังกายจนเหนื่อยมากเกินไป

  2. งดอาบน้ำเป็นเวลา 2 ชม. หลังการฝังเข็ม หรือครอบแก้ว

  3. หากมีอาการเหล่านี้หลังรักษาทั่วไปอาการจะดีขึ้นเอง ภายใน 72 ชั่วโมง หากทนไม่ไหวแนะนำดังนี้

  • มีไข้/ปวดระบม ทานยาแก้ปวดลดไข้ได้ตามปกติ

  • รอยบวม/รอยช้ำ 24 ชั่วโมงแรก ประคบเย็น หลังจากนั้นประคบร้อน


การฝังเข็ม ควรฝังเข็มกี่ครั้ง? บ่อยแค่ไหน?

  • ถ้าเป็นอาการปวดเมื่อยทั่วไป เบื้องต้นแนะนำรักษาต่อเนื่อง 3-5 ครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง และระยะเวลาของผลการรักษา

  • ความถี่ของการฝังเข็มช่วงแรก 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ขึ้นกับอาการ และสภาพร่างกายคนไข้ หลังจากนั้นจะค่อยๆ เว้นห่างออกไปได้ตามอาการของแต่ละคน


การฝังเข็ม อันตรายไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

หากฝังเข็มด้วยความไม่ระวัง หรือไม่มีความรู้เพียงพอ อาจทำให้เข็มโดนปอด เกิดปอดรั่วได้
ตัวอย่างเคส ฝังเข็มแล้วปอดรั่ว

การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัย ไม่ได้มีอันตราย หรือผลข้างเคียงรุนแรง ถ้ามีการรักษาที่ถูกต้องตามหลักของการฝังเข็ม และให้การรักษาโดยแพทย์หรือแพทย์แผนจีนได้รับใบรับอนุญาต หรือใบประกอบโรคศิลปะ

แต่ หากแพทย์ไม่มีความระมัดระวัง หรือผู้รักษาไม่ได้มีความรู้ตามหลักการฝังเข็ม อาจมีภาวะปอดรั่ว เข็มงอ เข็มหัก แท้งบุตร เกิดขึ้นได้ ตามที่เห็นตามข่าว โซเชี่ยว หรือ pantip เกิดขึ้นได้


ควรฝังเข็ม ที่ไหนดี?

อย่างน้อยที่สุดควรเป็นสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตสถานพยาบาล และผู้รักษาต้องมีใบอนุญาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

ที่พังงาคลินิก จำกัดจำนวนคนไข้ต่อวัน เพื่อให้มีเวลาในการตรวจ ซักประวัติ รักษาเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ และไม่ให้แพทย์จีนมีภาระงานที่หนักเกินไป และทีมแพทย์จีนของเรามีประสบการณ์การรักษา และอบรมความรู้ต่างๆอยู่เสมอ

ปล.อย่าลืมดูรูป และตราประทับ ในใบผู้ปฏิบัติงานสีน้ำเงินด้วยนะ ผู้ที่ทำการรักษาให้เป็นคนเดียวกันกับรูปในใบอนุญาตไหม (ผู้ปฏิบัติงานในคลินิกทุกคนจะต้องมีใบสีน้ำเงินเป็นของตัวเอง)

ผู้ปฏิบัติทุกคนในคลินิกต้องมีใบนี้ คนในรูป กับคนที่ทำการรักษาต้องตรงกัน
รูปใบผู้ปฏิบัติงาน (แบบส.พ.6)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

หมอไสว มาลยเวช(ไพศาล มาลาพันธุ์) .ตำราแทงเข็ม รมยา.--กรุงเทพฯ:สุขภาพใจ,2553.

ศาสตราจารย์ คลินิค น.พ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ .ฝังเข็มกับดุลยภาพ.--กรุงเทพฯ,2564.

วิทิต วัณณาวิบูล . ประวัติการแพทย์จีน.--พิมพ์ครั้งที่4--กรุงเทพฯ:หมอชาวบ้าน,2548.



bottom of page