![การแบ่งอาการกรดไหลย้อน แบบร้อนเย็น](https://static.wixstatic.com/media/933726_2a7620f7a00e402ba740c23e20954ea1~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_980,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/933726_2a7620f7a00e402ba740c23e20954ea1~mv2.jpg)
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “กินอาหารเป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร” คำพูดนี้เป็นการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการเลือกทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพ เพื่อที่ในอนาคตจะได้ไม่ต้องทานยาเป็นกำ ๆ เพื่อรักษาโรค เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ของการเจ็บป่วยมาจากการทานอาหารที่ไม่หลากหลาย และมีฤทธิ์ร้อน - เย็นที่ไม่สมดุล แล้วถ้าเป็นแบบนี้ งั้นเราต้องเลือกทานอาหารยังไง...ถึงจะดีต่อสุขภาพ หรือ ถ้าป่วยขึ้นมา ต้องทานอาหารบำรุงแบบไหนถึงจะช่วยได้ เรามาดูกันเลย
ในทางแพทย์แผนจีนจะให้ความสำคัญกับสมดุลของหยิน - หยาง สมดุลของร้อน - เย็นของกระเพาะอาหารกับอาหารที่ทาน เพื่อที่จะได้ไม่ป่วยง่าย หรือพอป่วยก็จะรู้ตัวเอง และรักษาได้ทัน
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักลักษณะกระเพาะอาหารร้อน - เย็นของเราตามมุมมองของแพทย์แผนจีนกันแบบง่าย ๆ กันก่อนดีกว่า ว่าถ้าเรามีภาวะกระเพาะเย็น หรือ กระเพาะร้อน จะมีอาการแบบไหน ควรทานอาหารประเภทใด ถึงจะรักษาอาการกระเพาะเย็น - ร้อนได้
กระเพาะเย็น VS กระเพาะร้อน
![กลุ่มอาการกระเพาะเย็น](https://static.wixstatic.com/media/933726_3c65665303414812a50a99464fc336bf~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_980,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/933726_3c65665303414812a50a99464fc336bf~mv2.jpg)
กระเพาะเย็น
อาการที่บ่งบอกว่า คุณมี “ภาวะกระเพาะเย็น” เช่น ปวดท้อง ปวดแน่นลิ้นปี่ ใบหน้าดูซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย บางครั้งก็จะถ่ายเหลว สีลิ้นซีดฝ้าขาว โดยจะเป็นมากขึ้นเมื่อทานอาหารฤทธิ์เย็น อาการจะทุเลา และดีขึ้นเมื่อดื่มน้ำอุ่น ๆ หรืออาหารฤทธิ์อุ่นก็จะรู้สึกดี ชอบให้กดนวด พอกดนวดก็จะรู้สึกสบายท้อง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่แสดงถึง “ภาวะเย็นพร่องของม้าม และกระเพาะอาหาร” นั่นเอง ซึ่งแพทย์แผนจีนมีมุมมอง มองว่าเกิดจากการทานอาหารฤทธิ์เย็นต่าง ๆ
ตัวอย่างอาหารฤทธิ์เย็น เช่น
เครื่องดื่ม : ชานมเย็น โยเกิร์ต น้ำปั่น น้ำเต้าหู้ นมวัว
ผัก - สมุนไพร : แตงกวา ผักกาดขาว บร็อคโคลี ถั่วงอก ใบรางจืด ใบย่านาง(ในแกงหน่อไม้)
ผลไม้ : แตงโม แอปเปิ้ล สัปปะรด สตรอเบอรรี่ ชมพู่
ธัญพืช – เนื้อสัตว์ : เต้าหู้ ถั่วเขียว บัควีท ลูกเดือย ปลาดิบ เนื้อดิบ กุ้งดอง
อุณหภูมของอาหาร : น้ำเย็น น้ำแข็ง ไอศกรีม ผลไม้แช่เย็น
ซึ่งของเหล่านี้ หากกินมากเกินไป ฤทธิ์เย็นจึงรุกเข้าทำลายความอุ่นของกระเพาะอาหาร ไปอุดกั้นการเคลื่อนไหวของพลังชี่กระเพาะ ทำให้กระเพาะเย็น
ดังนั้นคนที่มี “ภาวะกระเพาะเย็น” จึงไม่ควรทานของที่มีฤทธิ์เย็นเหล่านี้
![กลุ่มอาการกระเพาะร้อน](https://static.wixstatic.com/media/933726_fa2aa7e808404b7a839b5b1328b1ff77~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_980,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/933726_fa2aa7e808404b7a839b5b1328b1ff77~mv2.jpg)
กระเพาะร้อน
ส่วนอาการที่บ่งบอกว่า คุณมี “ภาวะกระเพาะร้อน” ก็อย่างเช่น แสบกระเพาะอาหาร แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว มีกรดไหลย้อน จะเป็นมากขึ้นเมื่อทานอาหาร ร้อนในง่าย ปากเหม็น ปากแห้ง ขมในปาก เหงือกอักเสบ จุกแน่นท้อง ท้องผูกและถ่ายแข็งแห้ง แสดงถึง “ภาวะความร้อนในกระเพาะอาหาร” แพทย์แผนจีนจึงมองว่า เกิดจากการกินอาหารฤทธิ์ร้อน ของทอด ของมัน มีไขมันเยอะมากเกินไป เช่น
ตัวอย่างอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น
ผัก - สมุนไพร : ขิง ข่า เครื่องเทศ กระชาย กานพลู อบเชย หัวหอม
ผลไม้ : ขนุน เงาะ ทุเรียน มะละกอสุก
ธัญพืช - เนื้อสัตว์ : ข้าวเหนียว เนื้อวัว เนื้อแกะ เนย ช็อกโกแลต (ให้พลังงานสูง ไม่ค่อยย่อย เป็นร้อนในง่าย สิวเห่อ)
ซึ่งของเหล่านี้ หากกินมากเกินไป ทำให้เกิดไฟในกระเพาะอาหาร กระเพาะหลั่งกรดมากเกินไป เผาผลาญสารน้ำในลำไส้ จึงเกิดอาการของ“ภาวะกระเพาะร้อน” ดังข้างต้นนั่นเอง
ดังนั้นคนที่มี “ภาวะกระเพาะร้อน” จึงไม่ควรทานของที่มีฤทธิ์ร้อนเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้อาการแย่กว่าเดิมได้
เมื่อรู้จักกระเพาะเย็น – กระเพาะร้อนแล้ว... หากไม่สบายขึ้นมา ควรทานอาหารแบบไหนดีนะ
เมื่อมี “ภาวะกระเพาะเย็น” ต้องเลือกทาน “อาหารที่มีฤทธิ์อุ่น - ร้อน” ผ่านวิธีการปรุงเช่น ต้ม นึ่ง ผัด ลวกให้สุก ทานแบบอุ่นร้อน เพื่อขจัดความเย็นในกระเพาะ ทำให้กระเพาะอุ่นมากขึ้น ให้พลังชี่เคลื่อนชี่เป็นปกติ จึงช่วยแก้ปวดกระเพาะได้ดี อาหารที่ช่วยลดความเย็น เสริมพลังหยาง เพิ่มธาตุไฟในร่างกาย เช่น
- น้ำขิง ช่วยอุ่นท้องได้ดีเวลาทานของฤทธิ์เย็นแล้วปวดท้อง
- พุทราจีน เป็นสมุนไพรจีนบำรุงเลือด มีฤทธิ์อุ่น ช่วยอุ่นกระเพาะได้ แก้อาการนอนไม่หลับ
- เนื้อสัตว์อุ่น ๆ ช่วยปรับอุ่นหภูมิร่างกาย เพิ่มพลังหยาง สำหรับคนขี้หนาว เลือดน้อย นอนไม่หลับได้
ส่วนใครที่มีอาการของ“ภาวะกระเพาะร้อน” ต้องเลือกทาน “อาหารที่มีฤทธิ์เย็น” เพราะอาหารที่มีฤทธิ์เย็นจะช่วยบำรุงอิน ลดธาตุไฟในร่างกาย เป็นตัวช่วยที่ดีในการดับพิษร้อน ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร ลดอาการปวดกระเพาะได้ เช่น
- น้ำเก๊กฮวย น้ำจับเลี้ยง ดับพิษร้อน แก้ร้อนในได้
- ลูกเดือยต้ม ขับน้ำลดบวม แก้ข้ออักเสบที่ปวด บวม แดง ร้อน
เคล็ดลับวิธีการปรุงที่เหมาะทั้งกระเพาะร้อนและเย็น
เพื่อให้ได้สารอาหารที่ดี และกรรมวิธีในการปรุงที่ทำให้อาหารดีต่อกระเพาะอาหารไม่ว่าจะกระเพาะร้อน หรือ กระเพาะเย็น แนะนำดังนี้
วิธีที่แนะนำ : ผัด ต้ม ลวก (อุณหภูมิของการผัด ต้ม ลวกประมาณ 70-80 องศา เป็นการรักษาคุณค่าของอาหารได้อย่างเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดภาวะอ้วนง่าย เหมาะทั้งกระเพาะร้อนและเย็น)
วิธีที่ไม่แนะนำ : -อบ (เป็นการใช้ความร้อนแห้ง ดึงเอาน้ำมันจากอาหารออกมา เกิดการสูญเสียสารอาหารไปพอสมควร)
-ทอด (เป็นการทำให้สุกด้วยน้ำมัน ทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ง่าย กระทบต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร และการสะสมไขมัน)
-ผัก ผลไม้แช่ฟรีส การนำไปปั่นกับน้ำแข็ง (ทำให้สูญเสียสารอาหาร และการทานของเย็นส่งผลให้กระเพาะเย็น ปวดท้องได้ง่าย)
ยาจีนปรับสมดุลกระเพาะอาหารเย็น - ร้อน
นอกจากอาหารข้างต้น เราก็สามารถรักษาอาการกระเพาะเย็น – กระเพาะร้อนได้ ด้วยยาสมุนไพรจีนตำรับได้เช่นกัน
อาทิ เช่น ตำรับเวินจงทัง (สำหรับกระเพาะเย็น) และ ตำรับอีก้วนเจียน (สำหรับกระเพาะร้อน)
![ตำรับยาจีน อุนจง](https://static.wixstatic.com/media/933726_6499aac9fa3147999639a53b30876146~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_980,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/933726_6499aac9fa3147999639a53b30876146~mv2.jpg)
ตำรับเวินจงทัง (温中汤: Wen Zhong Tang)
บำรุงกระเพาะให้อุ่น ช่วยลดปวดท้องจากอาหารฤทธิ์เย็น เช่น หลังกินไอศกรีม แซลมอนดิบได้
เป็นตำรับที่บันทึกในตำรายาโบราณอย่างฉีเสี้ยวเหลี่ยงฟาง 《奇效良方》ความพิเศษของตำรับนี้ คือ
ประกอบด้วยตัวสมุนไพรอย่าง 当归(ตังกุย) 白术(ไป๋จู๋) 人参(โสมคน) 附子(ฟู่จื่อ) 干姜(ขิงแห้ง) 甘草(ชะเอมเทศ) และอื่น ๆ ล้วนมีสรรพคุณอุ่นม้ามและกระเพาะอาหาร ขับความเย็นในกระเพาะ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หลังจากที่ทานของเย็น ของดิบอย่างแซลมอนดอง ไอศครีม หรือ ผัก ผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นมาก ๆ ได้
โดยแพทย์แผนจีนมองว่า “กระเพาะเย็น” เกิดจากฤทธิ์เย็นหรือความเย็นจากอาหารที่เราทานเข้าไปสะสมในร่างกาย จนไปทำลายหยางของกระเพาะ ความเย็นอุดกั้นลมปราณกระเพาะ ทำให้กระเพาะย่อยไม่ดี ลำไส้เกิดการหดเกร็งขึ้น วิธีแก้จึงใช้สมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์อุ่นร้อน ขับความเย็นออก บำรุงกระเพาะให้อุ่น อาการไม่สบายท้องก็จะหายไป
![ตำรับยาจีน อิก้วนเจียน](https://static.wixstatic.com/media/933726_1cd3812c37f241c8bf23cc3c5bed2e15~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_980,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/933726_1cd3812c37f241c8bf23cc3c5bed2e15~mv2.jpg)
และอีกหนึ่ง ตำรับสำหรับ “คนกระเพาะร้อน” นั่นก็คือ
ตำรับอีก้วนเจียน (一贯煎: Yi Guan Jian)
ตำรับยาจีนดี ๆ ของคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน แบบแสบร้อน
ความพิเศษของตำรับนี้ คือ เป็นตำรับที่ออกฤทธิ์บำรุงพลังหยินของตับไต ลดความร้อนของกระเพาะอาหาร ปรับชี่ตับในคนที่เครียดลงกระเพาะ เป็นโรคกระเพาะอักเสบ มีสรรพคุณรักษากระเพาะอักเสบเรื้อรัง กระเพาะเป็นแผล เรอเปรี้ยว คอแห้ง แน่นหน้าอก เสียดชายโครง
ประกอบด้วยตัวสมุนไพรจีน เช่น ตี้หวง(生地黄) เป่ยซาเซิน(北沙参) ม่ายตง(麦冬) ตังกุย(当归) เก๋ากี้(枸杞子) ชวนเลี่ยนจื่อ(川楝子) เมื่อรวมกันเป็นตำรับจึงมีฤทธิ์เย็น เสริมหยิน ระบายความร้อน ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ ชะลอการหลั่งกรดในกระเพาะที่มากเกินไปได้ดี นิยมรักษาคนที่มีอาการกรดไหลย้อน ร้อนในง่าย
ทีนี้เมื่อเรารู้ว่า เรามีภาวะกระเพาะอาหารแบบไหน ก็ควรลดการทานอาหารที่จะไปเสริมให้อาการแย่ลงได้ เช่น เมื่อเป็นร้อนในง่าย ท้องผูกบ่อย ลดการทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนอย่าง เนื้อวัว พริกไทย ของเผ็ดร้อน และหันมาทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นมากขึ้น เช่น มะระ น้ำเก๊กฮวย เพื่อความสมดุลความร้อน - เย็นในร่างกาย คราวนี้ก็ทำให้เราได้สังเกตร่างกายได้ง่ายมากขึ้น รักษาตัวเองได้ด้วยไม่ต้องเสียเงินนั่นเอง
อ้างอิง
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, “อีก้วนเจียน (一贯煎)” ในตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย ฉบับสมบูรณ์, เภสัชกรหญิงเย็นจิตร เตชะดำรงสิน บรรณาธิการ (กรุงเทพมหานคร: ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554), หน้าที่ 255-258