แพทย์แผนจีนเชื่อว่า ธรรมชาติและมนุษย์เป็นหนึ่งอันเดียวกัน ดังภาษาจีนที่ว่า "天人合一" ไม่ว่าวันเวลา ชั่วโมงยาม ฤดูกาล อากาศจะแปรเปลี่ยนเช่นไร ร่างกายมนุษย์เราก็จะปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติตามวัฏจักร ส่วนพลังชี่ เลือดและอวัยวะภายในต่าง ๆ จะทำงานหมุนเวียนตามการใช้ชีวิตของเรา ดังนั้นในตำราการแพทย์แผนจีนจึงได้มีการบันทึก "นาฬิกาชีวิต" เสมือนเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ (养生) และป้องกันการเจ็บป่วยแบบแพทย์แผนจีนไว้
ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจกฎการผันเปลี่ยนหรือการทำงานของนาฬิกาชีวิต นาฬิกาของระบบต่างๆ ในร่างกายเรา ก็จะช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม ไม่เจ็บป่วยง่ายนั่นเอง
มารู้จัก "นาฬิกาชีวิต" กันเถอะ
หากพูดถึงคำว่า "นาฬิกาชีวิต" นั่นสามารถเรียกได้หลายแบบ อาทิเช่น "นาฬิการ่างกาย" (Body Clock) หรือเรียกอีกอย่างว่า "นาฬิกาชีวภาพ" (Biological clock) ต่างเป็นคำที่กล่าวถึง "นาฬิกาชีวิต" ทั้งสิ้น
"นาฬิกาชีวิต" = วงจรการทำงานของเครื่องจักรในร่างมนุษย์
โดย "นาฬิกาชีวิต" คือ วงจรการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ที่ทำงานตรงตามเวลา โดยจะสัมพันธ์กับกิจวัตรประจำวันของมนุษย์เรา มีรอบเวลา 24 ชั่วโมง ตามการได้รับแสงและอุณหภูมิในร่างกายมนุษย์ด้วย อาทิเช่น การตื่นนอน การเข้านอน-นอนหลับ ความหิว การย่อย การหลั่งกรด หลั่งฮอร์โมน การทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ การเผาผลาญในร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกัน เรียกได้ว่าเป็นวงจรหรือกลไกที่คล้ายกับการทำงานของเครื่องจักรต่าง ๆ ที่มีเวลาการทำงาน สลับการทำหน้าที่และทำงานร่วมกัน เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำงานหนักเกินเวลา ไม่พักเครื่อง(ร่างกาย) เครื่องก็จะเกิดการรวนจนรัดวงจร ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้น ดังนั้นแพทย์แผนจีนส่วนใหญ่จึงแนะนำให้คนไข้เริ่มต้นรักษาสุขภาพด้วยการปรับ "นาฬิกาชีวิต" ให้แข็งแรงนั่นเอง
ถ้า "นาฬิกาชีวิต" เพี้ยน ล่ะ....จะเกิดอะไรขึ้น
มาปรับชีวิตตาม "นาฬิกาชีวิต" กันเถอะ
ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับ "นาฬิกาชีวิต" ในทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนก็สัมพันธ์กับเวลา แสงแดดเช่นเดียวกัน จะแบ่งเวลาใน 1 วัน ออกเป็น 12 ชั่วยาม (1 ชั่วยาม = 2 ชั่วโมง) ซึ่งแต่ละช่วงเวลาจะสอดคล้องกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทั้ง 12 อวัยวะดังนี้
🕛 ช่วง 5 ทุ่ม – ตี 1 ช่วงเวลาของถุงน้ำดี
ถุงน้ำดีทำงาน...ควรนอนได้แล้ว...เดี๋ยวตื่นมาไม่สดชื่นนะ
เวลา 23.00 – 01.00 น. คนจีนจะเรียกเวลานี้ว่า "ยามจื่อ (子时)" เป็นเวลาที่เส้นลมปราณถุงน้ำดีมีพลังมาก (胆经主时) ซึ่งเป็นเวลาที่พลังหยินสูงสุดจนเกิดหยางขึ้น (阴极阳生) ดังนั้นควรเป็นเวลาที่เราต้องหลับ เพื่อให้ถุงน้ำดีได้เก็บน้ำดีจากตับ ไปช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก ไขกระดูกจะเริ่มทำการสร้างเลือดและซ่อมแซมร่างกาย
หากนอนก่อนเวลานี้จะทำให้ตื่นเช้ามาสมองโล่ง สมองโปร่ง จิตใจแจ่มใส และที่สำคัญเป็นการป้องกันการเกิดโรคนิ่ว โรคตับและปกป้องพลังหยางด้วย
แต่ถ้าเราไม่เข้านอนก่อนเวลานี้ ถุงน้ำดีจะอ่อนแอ เกิดไฟย้อนกลับขึ้นด้านบน (胆火上逆) จะคิดมาก กังวล นอนไม่หลับ ปวดหัว พอหลับไปตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกง่วงนอน ไม่สดชื่น สมองตื้อ ใต้ตาคล้ำได้
🕑 ช่วง ตี 1 - ตี 3 ช่วงเวลาของตับ
ตับทำงาน...ควรหลับให้สนิท...อย่าเผลอสะกิดให้ตื่น
เวลา 01.00 - 03.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามโฉ่ว (丑时)" เป็นเวลาที่เส้นลมปราณตับทำงาน (肝经主时) กำจัดสารพิษในร่างกาย แพทย์แผนจีนเชื่อว่า ตับ ทำหน้าที่เก็บกักเลือด (肝蒇血) ทำให้พลังชี่ตับแข็งแกร่ง ไม่แปรปรวนง่าย การนอนหลับในเวลานี้ก็สามารถบำรุงตับให้แข็งแรงได้เช่นกัน
หากเราไม่พักผ่อนในเวลานี้ ยังทำงานหนัก ดื่มเหล้า จะทำให้ตับมีพลังหยางมากเกินไป อารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวลง่าย ใบหน้าหมองคล้ำ เป็นฝ้า สิวได้ และผู้สูงอายุหากไม่พักผ่อนในเวลานี้จะเสี่ยงต่อโรคทางจิต เช่น ภาวะสมองเสื่อม รวมถึงความดัน เบาหวาน โรคหัวใจได้เร็ว
🕓 ช่วง ตี 3 - ตี 5 ช่วงเวลาของปอด
ปอดรับพลัง...ตื่นขึ้นมาสดชื่น หน้าสวยใส
เวลา 03.00 - 05.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามอิ่น (寅时)" เป็นเวลาที่เส้นลมปราณปอดทำงาน (肺经主时) จะเริ่มรวบรวมพลังชี่และเลือด แลกเปลี่ยนออกซิเจนให้กับหลอดเลือดทั่วร่างกายอย่างเต็มที่ (肺主气,朝百脉) การนอนหลับลึกในเวลานี้ถือช่วยบำรุงปอดด้วย ตื่นขึ้นมาใบหน้าสดใส ร่างกายสดชื่น
หากเราไม่พักผ่อนในเวลานี้จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองและร่างกายน้อย คนเป็นภูมิแพ้ หอบหืด อาการจะกำเริบได้ง่าย ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีปัญหาปอดและหัวใจทำงานไม่ดีไม่ควรรีบลุกขึ้นและไม่แนะนำให้ออกกำลังกายในตอนเช้า
🕕ช่วง ตี 5 - 7 โมงเช้า ช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่ตื่นแล้ว...มาขับถ่าย ไม่ให้ท้องผูกกัน
เวลา 05.00 - 07.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามเหม่า (卯时)" เป็นเวลาที่เส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ทำงาน (大肠经主时) พลังชี่และเลือดจะไหลเวียนไปรวมกันอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ ดังนั้นให้ดื่มน้ำอุ่น ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย จะได้ไม่ถ่ายแข็งหรือท้องผูก
ถ้าหากเราไม่ตื่นขึ้นมาขับถ่ายเวลานี้ จะทำให้ระบบลำไส้ใหญ่แปรปรวน เกิดท้องผูก ถ่ายไม่เป็นเวลา ระหว่างวันจะรู้สึกไม่สบายตัวได้
🕗 ช่วง 7 – 9 โมงเช้า ช่วงเวลาของกระเพราอาหาร
กระเพาะอาหารเปิด...มาทานข้าวกันเถอะ
เวลา 07.00 - 09.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามเฉิน (辰时)" เป็นเวลาที่เส้นลมปราณกระเพาะอาหารทำงาน (胃经主时) พลังชี่และเลือดจะไหลเวียนไปกระเพาะอาหารมากขึ้น เพื่อให้มีแรงในการย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ง่าย ไม่อ้วนง่าย ดังนั้นควรทานข้าวเช้าในเวลานี้ เสมือนเติมน้ำมันให้เครื่องจักรเดินหน้าทำงานเต็มกำลัง ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่
หากเราไม่ทานอาหารเช้าในเวลานี้ จะทำให้กระเพาะอาหารทำงานรวน หลั่งกรดออกมาจนเกิดกรดไหลย้อน เป็นโรคกระเพาะ ไม่มีแรง สมองไม่แล่น ไม่มีสมาธิได้
🕙 ช่วง 9 - 11 โมงเช้า ช่วงเวลาของม้าม
ม้ามย่อยง่าย...ขยับตัวนิดๆ...ร่างกายตื่นตัว
เวลา 09.00 - 11.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามซื่อ (巳时)" เป็นเวลาที่เส้นลมปราณม้ามทำงาน (脾经主时) และมีหน้าที่เสริมสร้างแขนขา รวมทั้งการเคลื่อนไหว (脾主四肢 ) ดังนั้นจึงเหมาะที่เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยให้ระบบย่อยกระจายสารอาหารและน้ำไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ดี และที่สำคัญแยกเอาส่วนดีของอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนบน และการแยกส่วนเสียของอาหารสู่ส่วนล่างเพื่อขับถ่ายออก (升清降浊)
ในเวลานี้หากไม่ค่อยได้ขยับตัว หรือ นอนหลับอยู่ก็อาจจะทำให้ม้ามอ่อนแรง รู้สึกอาหารไม่ค่อยย่อย เพลียง่าย ไม่ค่อยสดชื่นระหว่างวัน
🕛 ช่วง 11 โมง - บ่าย 1 ช่วงเวลาของหัวใจ
พักสักงีบ...บำรุงหัวใจ พักสมอง
เวลา 11.00 – 13.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามอู่ (午时)" เป็นช่วงเวลาที่พลังหยินหยางทำงานสลับกัน พลังหยางชี่มากที่สุดและพลังหยินน้อยที่สุด เป็นเวลาที่เส้นลมปราณหัวใจทำงาน (心经主时) การพักผ่อนระหว่างเวลานี้จึงช่วยบำรุงหัวใจ จิตใจสงบ (养心安神) ทำให้ยามบ่ายทำงานต่อได้อย่างมีพลัง คิดงานต่อได้ดี
ในเวลานี้หากเราต้องคิดเรื่องเครียด ๆ เลือดสูบฉีดไหลเวียนไปที่หัวใจไม่เต็มที่ ติดขัดก็จะทำให้สมองไม่แล่น อารมณ์ไม่คงที่ได้ ดังนั้นควรทำตัวสบาย ๆ ผ่อนคลาย ชิลล์ ๆ นั่นเอง
🕑 ช่วง บ่าย 1 - 3 โมง ช่วงเวลาของลำไส้เล็ก
งดกินก่อนนะ...ลำไส้เล็กกำลังย่อยและดูดซึมได้ดี
เวลา 13.00 – 15.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามเว่ย (未时)" เป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณลำไส้เล็กทำงาน (小肠经主时) เป็นเวลาสำหรับการย่อยและดูดซึมอาหารที่กินเข้าไป ควรจะทานอาหารกลางวันก่อนเวลานี้ งดทานของกินเล่น น้ำหวาน จะทำให้ลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหารไปเลี้ยงสมองและร่างกายได้เต็มที่ สมองคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ วางแผนงานในเวลานี้ดีที่สุด
หากเวลานี้ยังกินอยู่ อาจทำให้อาหารไม่ค่อยย่อย ง่วงเพลียง่าย เป็นต้น
🕓 ช่วง บ่าย 3 - 5 โมง ช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ
ดื่มน้ำเยอะๆ...เดินเล่นช้าๆ...เข้าห้องน้ำปัสสาวะด้วย
เวลา 15.00 – 17.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามเซิน (申时)" เป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะทำงาน (膀胱经主时) การดื่มน้ำบ่อย ๆ เดินเข้าห้องน้ำไปปัสสาวะในเวลานี้จะทำให้กระบวนเมตาบอลิซึมร่างกายปกติ สามารถรักษาภาวะต่าง ๆ ภายในร่างกายให้คงที่ได้และออกกำลังกายเบา ๆ ผ่อนคลายก่อนเข้านอนตอนค่ำ
หากอดน้ำ ทานน้ำน้อย กลั้นปัสสาวะจะทำให้ระบบการขับปัสสาวะเพี้ยนไปได้
🕕 ช่วง 5 โมงเย็น – 1 ทุ่ม ช่วงเวลาของไต
เย็นแล้วงดเค็ม กินจืด...ช่วยให้ไตแข็งแรงได้
เวลา 17.00 – 19.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามโหย่ว (酉时)" เป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณไตทำงาน (肾经主时) ทานอาหารเย็นให้ตรงเวลา ไตแข็งแรงก็จะช่วยให้ม้าม กระเพาะอาหารแข็งแรงด้วย (后天养先天) ป้องกันการเหนื่อยเพลียสะสม
หากทานอาหารดึกจะทำให้ระบบย่อยและการสะสมสารจำเป็นของไตไม่แข็งแรง การเจริญเติบโตและระบบสืบพันธุ์จะทำงานไม่เต็มที่ ดังนั้นควรงดเค็ม ทานอาหารรสจืดจึงจะดี
🕗 ช่วง 1 - 3 ทุ่ม ช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ
อารมณ์ดี...ไม่ทานอิ่มเกิน เยื่อหุ้มหัวใจแข็งแรง
เวลา 19.00 – 21.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามซวี (戌时)" เป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจทำงาน (心包经主时) พลังชี่และเลือดไหลเวียนหล่อเลี้ยงหัวใจ จิตใจผ่อนคลาย อารมณ์ดีเข้าไว้ (怡养心神) และไม่ควรทานอาหารอิ่มเกินไป เพราะตอนเย็นเวลานี้เป็นเวลาพักผ่อนก่อนที่จะเข้านอน
หากทานอาหารอิ่มเกินไปหรือเครียดในเวลานี้ จะทำให้นอนไม่หลับ เกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นได้
🕙 ช่วง 3 - 5 ทุ่ม ช่วงเวลาของซานเจียว
ร่างกายอบอุ่น...พร้อมเข้านอนกัน
เวลา 21.00 – 23.00 น. เวลานี้จะเรียกว่า "ยามไฮ่ (亥时)" เป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณซานเจียวทำงาน (三焦经主时) ซึ่งซานเจียวเป็นทางผ่านของพลังชี่และเลือดของระบบต่างๆ ทั้งหมดในร่างกาย จะปรับสมดุลอุณหภูมิร่างกายลดลง เริ่มหลั่งเมลาโทนิน เวลานี้เราควรเตรียมตัวอาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าอุ่น ๆ พร้อมเข้านอนกัน
“นาฬิกาชีวิต” นี้จะหมุนเวียนตามช่วงเวลาเช่นนี้ และอวัยวะต่าง ๆ ก็จะทำงานหมุนเวียนสลับกันไปเป็นวงจร เมื่อเราเข้าใจการหมุนเวียนและการทำงานของ “นาฬิกาชีวิต” แล้ว เราก็จะสามารถสร้างสมดุลของพลังชี่ เลือด หยินและหยางของร่างกายเราได้ นับว่าเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยทางกายและใจที่ไม่ต้องพึ่งยา เพียงแค่มีวินัยและฝึกฝนให้สม่ำเสมอเท่านั้น